วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ

     พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ กทม. คือพระภิกษุฝ่ายวิปัสสนากัมมฐานที่หลายๆท่านเชื่อว่าท่านสำเร็จวิชาธรรมกาย ชื่อเสียงเกียรติคุณท่านจึงโด่งดังมาพร้อมกับพระผงของขวัญ ที่ในอดีตได้รับความนิยมมาก มีการเช่าหากันถึงหลักล้านในองค์ที่มีความสวยระดับแชมป์เรียกพี่แต่ว่ามีขึ้นก็มีลงเป็นสัจธรรมด้วยว่ามีของเสริมเก๊เฉียบออกอาละวาดอย่างหนัก ท้ายที่สุดราคาก็ตกลงมาในหลักหมื่น ดังนั้นนักเล่นจึงหันมาสะสมวัตถุมงคลของท่านประเภทเหรียญแทนพระเนื้อผงซึ่งจะหาชม(ของแท้)ได้ยากขึ้นทุกขณะ ด้วยคิดว่าของเก๊ทำเหมือนได้ยาก จึงอยากจะแนะนำให้จดจำไว้บ้างเผื่อเจอของหลง...
เหรียญดวงสมภพ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ

จุดตำหนิในเหรียญนี้ คือ

๑.ที่ใกล้มุมขวามือด้านบนมีรอยแกะพิมพ์พลาดเป็นเส้นนูนแนวดิ่ง ๑ เส้น
๒.คำว่า “ปากน้ำ” ใต้ตัว “ก” มีจุดไข่ปลาหนึ่งเม็ด
๓.คำว่า “สัมมา” ใต้สระ อา มีรอยแกะพิมพ์พลาดยาวลงไปคมๆ แลดูพลิ้ว ไม่แข็งกระด้าง
๔.เส้นที่เชื่อมวงกลมตรงกลางเหรียญมักปรากฏเส้นแกะเกินทะลุถึงวงในทุกเส้น และเส้นขวามือมีรอยแกะพิมพ์พลาดเป็นเส้นตรงคมๆวิ่งขนานไปหาวงกลม
๕.ที่วงกลมลูกที่อยู่ตรงกลางมีจุดไข่ปลาอยู่หนึ่งเม็ด
๖.วงกลมด้านซ้ายมือมีเส้นขนแมวเรียวยาวคมๆหนึ่งเส้น
๗.คำว่า “ธรรม”ขมวดตัว “ม” เส้นจะขาด
๘.ที่รูใส่ห่วงเหรียญต้องมีรอยเนื้อปลิ้นเรียกว่ารอยตราไก่ และตามขอบเหรียญมักมีรอยเนื้อปลิ้นคมๆอยู่ซึ่งเกิดจากการกระแทกปั้มอย่างแรงนั่นเอง ตรงนี้ทำเก๊ยาก

การตรวจสอบพระพุทธรูปบูชาเนื้อสัมฤทธิ์เก่าหรือใหม่

โดย คุณหนุ่ม มรดกไทย

     การที่จะเป็นนักสะสมพระพุทธรูปเทวรูปพระเครื่องพระบูชาในสมัยนี้นั้น ต้องลงทุนมาก ต้องศึกษาหาความรู้ว่าพระเก่าหรือพระใหม่เป็นเช่นไร เสี่ยงต่อการถูกต้มตุ๋นหลอกลวงเป็นอย่างมาก นักเลงนักสะสมพระเครื่องพระบูชามือใหม่เป็นจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจ ในวิธีตรวจสอบดูพระเครื่องพระบูชาที่เป็นของเก่าของกรุ ว่าของเก่าแท้แน่นอนนั้นเป็นประการใด
   ทั้งนี้เพราะนักเล่นพระมือใหม่ยังไม่ค่อยสนใจศึกษาหาความรู้ หรือขอดูพระเก่าของแท้จากผู้รู้ให้กะจ่างแจ้งเสียก่อน ส่วนมากมือพระใหม่พอเข้าสู่วงการพระมีผู้รู้บ้างไม้รู้บ้างชักจูงแนะนำไปในทางที่ผิด เข้ารกเข้าป่าไปก็มี เช่นให้เล่นพระตามใจชอบ ไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนไม่มีพี่เลี้ยงหรือเทรนเนอร์ที่ดีมีความรู้ ขอให้ชอบเป็นเช่า หาได้ทราบไม่ว่าของที่เช่านั้น เป็นพระใหม่หรือพระเก่า ในวงการพระเขานิยมหรือไม่ เชื่อแต่ลิ้นลมลวงเอาหูฟังประวัติอันเลื่อนลอยอ่อนหวานของผู้ชาย สรุปแล้วเอาหูเล่นพระเป็นใหญ่อย่างนี้ ผู้เล่นพระร้อยทั้งร้อยเล่นพระแต่หนุ่มจนแก่ก็ไม่ได้ดีเพราะหลงผิด เสียเงินเสียทองเปล่า บางรายอาจถูกต้มจนหมดตัวก็มี ขอให้ท่านจงระวังจงเป็นผู้มีเหตุผลเล่นพระตามสากลนิยมพระอย่างใด ครูบาอาจารย์ผู้เล่นมาก่อนว่าเป็นพระชั้นดีก็ต้องเชื่อเขา เช่นพระเครื่องชุดเบญจภาคีอันประกอบด้วย พระสมเด็จโต พระนางพญา พระรอด พระทุ่งเศรษฐี พระผงสุพรรณ อันเป็นยอดพระเครื่องชั้นสูงหรือพระบูชาสมัยสูง เช่นทวารวดี ศรีวิชัย ขอม ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยา อย่างนี้ถ้าเป็นพระแก่แท้ก็เป็นของหายากราคาสูง จึงควรจะได้แสวงหาเช่ามาบูชา ก็จะเกิดโชคดีมีศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว พระเก่าแท้ให้ความศักดิ์สิทธิ์แก่ผู้กราบไหว้เคารพบูชาอย่างแท้จริง พระเก่าไม่ว่าจะเป็นพระเครื่องพระบูชาอย่างแท้จริง
   พระเก่าไม่ว่าจะเป็นพระเครื่องพระบูชาสร้างด้วยเนื้อหินศิลา สัมฤทธิ์ ชิน ตะกั่ว ดิน ผง ว่านฯ ต้องมีความเก่า คือมีคราบ มีสนิม มีรอยสึกกร่อน แอ่ง รูพรุนปรายเข็ม ริ้วระแหงแตกร้าวเหี่ยวย่น ผิวเข้ม เนื้อแห้งสนิทพื้นผิวของ เนื้อพระไม่ตึงเรียบ เนื้อไม่มันวาว ไม่กะด้าง ถ้าใช้มานานถูกเสียดสีเนื้อพระจะเข้มขึ้นแลมันใส ลูบดูทั่วองค์พระจะไม่มีขอบคมเลย ดมดูจะไม่มีกลิ่น เอาลิ้นแตะดูจะไม่ดูดลิ้นอย่างนี้เป็นต้น
หลักการพิจารณาตรวจสอบพระพุทธรูปบูชาเนื้อสัมฤทธิ์เก่าหรือใหม่ เป็นของแท้ของเทียมหรือของปลอมดังจะได้เรียนต่อไปนี้ ขอท่านผู้อ่านโปรดพิจารณาทุกตัวอักษร และตีความหมายไปด้วย แล้วท่านจะเข้าใจในการดูพระแท้พระปลอม การที่จะตรวจสอบว่าเป็นพระเก่าพระใหม่โดยการเขียนเป็นตัวอักษรให้เข้าใจได้แน่ชัดนั้นยากนัก และแต่ละหัวข้อให้ถามตนเองว่าพระที่สร้างแบบนี้ทำปลอมได้ไหม

๑. พระเก่าเราดูรูปแบบว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยใด เป็นสมัยลพบุรี เชียงแสน อู่ทอง สุโขทัย อยุธยา ถูกต้องหรือไม่เป็นฝีมือช่างราษฎร์ (สร้างไม่สวยงาม) หรือฝีมือช่างหลวง (สวยงาม)

๒. พระเก่าต้องมีคราบมีสนิม มีรอยสึกกร่อน แอ่งรูพรุนปรายเข็ม รอยชำรุดแตกร้าวเนื้อแห้งสนิทผิวเข้ม เป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่ว่าสนิมอยู่ในเนื้อ

๓. พระเก่าแท้เห็นแล้วได้ไว้เป็นเจ้าของมีความซึ้งตา ซึ้งใจ เนื้อผิวของพระเนียนสนิท

๔. พระเก่าเอามือจับลูบดูทั่วองค์พระทุกแห่ง จะไม่มีขอบคมติดมือเลย

๕. ถ้าตรงไหนมีเนื้อในของพระสึกกร่อนจนเห็นเนื้อโลหะ เนื้อโลหะสัมฤทธิ์ตรงนั้นจะมองเห็นสีแดงปนเหลือง หรือค่อนข้างแดง หมองหม่น คล้ำ สีซีด ไม่มันวาว ไม่เป็นเหลืองเหมือนทองเหลืองล้วนๆ

๖. พระเก่าผิวเนื้อจะมันใส แห้งสนิท ของทำเทียมเลียนแบบผิวเนื้อพระจะมันวาวเช่นดำมันวาวหรือแดงน้ำตาลไหม้มันวาว พระของใหม่เนื้อจะกะด้าง ไม่งามติดตา หรือให้ช่างรมดำเอา

๗. พระเก่าถ้าเป็นพระนั่งเคาะดูที่ฐานนั่งจะมีเสียงดังแปะๆ ถ้าเป็นพระใหม่จะมีเสียงดังหนักแน่นกังวาล ก็เพราะเนื้อพระยังใหม่กินตัวกับอากาศไม่นานพอ

๘. พระเก่าเนื้อแห้งสนิท ผิวเนื้อของพระไม่เรียบตึง เนื้อพระเก่าจะมีรอยย่นเหี่ยวแอ่งรู พรุน สึกกร่อนสวนมากมีรอยชำรุดแตกร้าวใช้แว่นขยายกำลังสูงส่องจะมองเห็นชัดเจน


๙. พระเก่ามีรูสนิมขุม หรือขุมสนิมจะเกิดจากด้านในมาด้านนอก ปากสนิมขุดจะเล็กด้านในกลวง สนิมที่ทำเทียมใช้น้ำกรดราดกัดเนื้อพระปากสนิมจะกว้างด้านในเล็ก สนิมจะกัดกินเนื้อพระสม่ำเสมอ พระเก่าสนิมขุมจะเป็นแอ่งขรุขระสูงๆ ต่ำๆ ไม่สม่ำเสมอ

๑๐. ดินหุ่นด้านในใต้ฐานของพระ พระเก่าดินหุ่นมักจะมีค่อนข้างหนา แข็ง แห้งสนิทถ้าเอานิ้วมือแตะดูดินหุ่นจะติดมือ เพียงเล็กน้อย หรืออาจจะไม่ติดมือเลย

๑๑. ขอบโลหะพระนั่งด้านล่าง คือตรงฐานที่เราตั้งพระนั่ง พระเก่าแท้ขอบพระด้านล่างจะมีผิวสนิมเหมือนกับผิวสนิมขององค์พระไม่มีรอบตะไบ ขอบด้านล่างนี้ผู้ปลอมหรือทำใหม่ทาน้ำยาเคมีไม่ติดแน่นจึงทำให้ผิวขอบพระนั่งด้านล่างนี้แตกต่างจากองค์พระไม่มากก็น้อย

๑๒. เม็ดพระศกก้นหอยขององค์พระเก่าแท้ ผู้สร้างคนโบราณได้ปั้นเม็ดพระศกของพระด้วยมือทุกๆ เม็ดพระศก ฉะนั้นเม็ดพระศกอาจจะมีเล็กใหม่แตกต่างกันเล็กน้อย แถวเรียงเม็ดพระศกอาจจะบิดเบี้ยวเล็กน้อยก็ได้ แต่เม็ดพระศกของพระทำเทียมเลียนแบบ หรือ พระใหม่จะมีรอยขีดเป็นเส้นโคงไปตามแนวพระนลาตหรือพระเศียรของพระ แล้ววางเรียงเม็ดพระศกเป็นระเบียบเรียบร้อย

๑๓. พระใหม่เม็ดพระศกด้านหน้าตรงพระนลาตจะยกขอบสูงกว่าพื้นผิวพระนลาตจนเห็นชัด หรือบางทีก็เห็นเป็นเส้น เป็นแอ่งชัดเจน พระเก่าแท้เม็ดพระศกด้านหน้าจะอยู่ในระดับเดียวกับผิวพระนลาต ไม่มีรอยขีดและเป็นไปตามธรรมชาติ พระบูชาถ้าเป็นพระสมัยสูงอายุเกินกว่า ๘๐๐ ปีขึ้นไป เช่นพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ฐานเขียงไม่มีบัว เม็ดพระศกของพระจะแตกบี้เห็นได้ชัดเจน

๑๔. พระเก่าผิวเนื้อ ผิวสนิมจะมองดูเห็นมีสีอ่อนแก่ได้ชัดเจน ไม่ใช่ผิวสนิมเนื้อของพระมองดูเป็นสีเดียวโล้นๆ ซึ่งเป็นผิวสนิมของพระใหม่

๑๕. พระเก่าดมดูจะไม่มีกลิ่นฉุน เมื่อดมดูจะรู้สึกเฉยๆ หรือเมื่อเอาลิ้นแตะเนื้อพระดูจะไม่ดูลิ้น เนื้อพระใหม่เอาลิ้นแตะดูจะดูดลิ้นเพราะในเนื้อพระน้ำยาเคมียังระเหยไปไม่หมด

๑๖. พระบูชาที่เอาเนื้อพระเก่าที่แตกหักชำรุดหรือไม่สวยงามมาเทสร้างใหม่ให้เป็นพระสมัยสูงมีราคาแพง
เช่นพระพุทธรูปเชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง ลพบุรี นี้นั้นขอให้สังเกตุให้ดี ผิวสนิมเนื้อของพระที่เทใหม่จะไม่มันใส แต่มีความเก่า เนื้อพระนี้จะมองดูด้านๆ และเนื้อโลหะไม่เข้ากันสนิท คือดำๆ ด่างๆ ผิวหยาบ ทำกินหุ่นไม่เหมือนของเก่าหรือบางทีก็ไม่มีดินหุ่น เอามือจับลูบดูอาจมีขอบคมอยู่บ้าง

๑๗. เคล็ดลับหรือตำหนิพระเก่าแท้พระบูชาสมัยเชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง ลพบุรี
ที่ผู้รู้กำหนดไว้บอกว่า พระที่มีลักษณะต่อไปนี้เป็นพระเก่าที่คณาจารย์ หรือช่างโบราณสร้างขึ้นได้ลักษณะถูกต้องแท้จริง ย่อมประกอบไปด้วยสิ่งดังต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างคือ

ก. ขอบหรือจีบชายจีวร ที่พาดผ่านพระอุระของพระจากด้านหน้าวก โค้งไปด้านหลังจะมีจีบเป็น ๒ จีบ

ข. เหนือคิ้วขององค์พระจะมีขีดเป็นขีดเล็กๆ โค้งไปตามคิ้วอย่างสวยงาม

ค. พระสังฆาฏิ ของพระด้านหลังจะไม่ถึงที่นั่ง คือปลายสังฆาฏิด้านหลังพระถึงที่นั่ง คือปลายสังฆาฏิด้านหลังพระ จะไปหยุดอยู่แค่สะโพก และพระบูชาที่ไม่มีตำหนิดังกล่าวนี้ที่เป็นของเก่าแท้แน่นอน ก็มีมากมายเช่นกัน และพระใหม่พระทำเทียมเลียนแบบ อาจจะมีตำหนิดังกล่าวนี้ได้เช่นเดียวกัน จึงถือเอาตำหนินี้เป็นแน่นอนไม่ได้ ทำไมเซียนพระจึงเพียงแต่มองดูพระพุทธรูป โดยยังไม่ได้จับต้องก็รู้ว่าพระนั้นเป็นพระเก่า หรือพระใหม่ได้ถูกต้อง อย่างนี้ก็ไม่ใช้เรื่องแปลกปลาดอันใดเพราะเขาดูและยึดถือตำหนิดังกล่าวนี้ จึงบอกได้ถูกต้อง
     วัสดุที่โบราณาจารย์ นิยมเอามาสร้างเป็น พระพุทธรูปบูชาอย่างแพร่หลายได้แก่โลหะ ทองคำ นาค เงิน ทองเหลือง ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ลงหิน เมื่อผสมกัน แล้วเรียกว่าสัฤทธิ์นี้ เฉพาะแร่ทองคำ เงินและทองแดง เป็นธาตุแท้ นอกนั้นเป็นโลหะผสม เนื้อทองคำเหลืองอร่ามสวยงามมีราคาสูงไม่กลายสภาพเป็นอย่างอื่น เมื่อผสมกับแร่ธาตุอื่นจะทำให้แร่ธาตุอื่น จะทำให้ แร่ธาตุนั้นผิวกลับดำ ถ้าธาตุนั้นเก่าก็จะทำให้มองเห็นความเก่าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื้อทองแดงเมื่อผสมกับแร่ธาตุอื่น จะทำให้แร่ธาตุนั้นเปลี่ยนไป เช่นทองแดงผสมสังกะสีจะกลายเป็นทองเหลืองเนื้อสัมฤทธิ์ตามความหมายของนักเล่นพระ หมายถึงโลหะผสมผิวกลับดำหมองคล้ำย่อมมีผิวเนื้อแตกต่างกัน ทั้งนี้แล้วแต่ส่วนผสม เช่นถ้าส่วนผสมแก่เงินผิวโลหะนั้นจะกลับดำ ถ้าโลหะนั้นมีทองคำผสมด้วยแม้จะไม่มากนักก็ทำให้โลหะนั้น มีความมันในสวยงามขึ้น โลหะที่ผสมเป็นเนื้อสัมฤทธิ์สร้างพระบูชา นิยมเรียกชื่อต่างกันตามผสม เช่น ปัญจโลหะ, และ
นวโลหะ

ปัญจโลหะ ได้แก่ส่วนผสมโหละ ๕ อย่างดังต่อไปนี้คือ
๑. ดีบุก หนัก ๑ บาท
๒. ปรอท หนัก ๒ บาท
๓. ทองแดง หนัก ๓ บาท
๔. เงินหนัก ๕ บาท
๕. ทองคำ หนัก ๕ บาท
สัตตะโลหะได้แก่ส่วนผสมโลหะ ๗ อย่างดังต่อไปนี้
๑. ดีบุก หนัก ๑ บาท
๒. สังกะสี หนัก ๒ บาท
๓. เหล็กละลายตัว หนัก ๓ บาท
๔. ปรอท หนัก ๔ บาท
๕. ทองแดง หนัก ๕ บาท
๖. เงิน หนัก ๖ บาท
๗. ทองคำ หนัก ๗ บาท
นวะโลหะได้แก่ผสมโลหะ ๙ อย่างดังต่อไปนี้
๑. ชิน หนัก ๑ บาท
๒. เจ้าน้ำเงิน หนัก ๒ บาท
๓. เหล็กละลายตัว หนัก ๓ บาท
๔. บริสุทธิ์ หนัก ๔ บาท
๕. ปรอท หนัก ๕ บาท
๖. สังกะสี หนัก ๖ บาท
๗. ทองแดง หนัก ๗ บาท
๘. เงิน หนัก ๘ บาท
๙. ทองคำ หนัก ๙ บาท
     พระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์ ที่เห็นปรากฏเป็นส่วนมาก็มี เนื้อสัมฤทธิ์ดำ เนื้อสัมฤทธิ์เขียว เนื้อสัมฤทธิ์แดง เนื้อสัมฤทธิ์ดังกล่าวนี้ ถ้ามีส่วนผสมของทองคำจะทำให้สัมฤทธิ์นั้นมันใสสวยงามยิ่งขึ้น
สัมฤทธิ์ดำ มีส่วนผสมของแร่เงินมาก
สัมฤทธิ์เขียว มีส่วนผสมของทองเหลืองมาก
สัมฤทธิ์ แดงน้ำตาลไหม้ มีส่วนผสมของแร่ทองแดงมาก
เนื้อพระผิวสนิมสีของพระเก่ามีสีอ่อนแก่ แตกต่างกัน และสนิมของพระก็แตกต่างกัน ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระเก่าบางองค์ฝังอยู่ในดินฝันอยู่ในถ้ำ บางองค์เก็บรักษาไว้ในถ้ำ ในปราสาท ในโบสถ์ วิหาร ศาลาเปรียญหรือเก็บไว้ในบ้าน พระเก่าที่ฝังอยู่ในดินในกรุผิวสนิมของพระจะหนา เหี่ยวย่นที่เก็บไว้ในบ้านเคหะสถาน โบสถ์วิหาร ผิวสนิมจะบางสวยงามเนียนสนิท

พระสัมฤทธิ์ เนื้อมันวาว เรามองดูผิวพระจะมันวาว มันละเลื่อม ผิวเข้ม ความมันวาวจะฉาบอยู่บนพื้นผิวของพระ ความมันวาวนี้อาจจะเกิดขึ้นเอง ตามธรรมชาติถ้าเป็นพระเก่าสร้างมานานเกินกว่า ๖๐ ปี ถึง ๒๐๐,๓๐๐ ปี หรือเกิดจากการรมดำ ถ้าเป็นพระใหม่ฉะนั้นตามทัศนะของข้าพเจ้าผู้เขียนเห็นว่าพระเนื้อสัมฤทธิ์มันวาว มีทั้งที่เป็นพระเก่าที่สร้างเลียนแบบ และที่เป็นพระสร้างขึ้นใหม่โดยทาสีรมดำเอา ขอให้หัวข้อที่กล่าวมาแล้ว ๑๗ ข้อตรวจสอบพิจารณาก็จะทราบว่าเป็นพระใหม่หรือพระเก่า (พระที่เลียนแบบพระสมัยต่างๆเช่นสมัยเชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง นั้นได้สร้างกันมานานแล้ว อย่างที่นักเลงพระบอกว่า พระองค์นี้เก่าอยู่แต่ไม่ถึงสมัย ความนิยมคุณค่าราคาก็จัดว่าเก่ามีราคาพอสมควร)

พระสัมฤทธิ์เนื้อมันใส จัดเป็นเนื้อเก่าแท้ ความมันใสเกิดจากพระสร้างมานานเนื้อพระกินตัว กับอากาศถูกความร้อนเย็นนานเข้าเนื้อพระแห้งสนิท เกิดคราบสนิมมีความสึกร่อนตามธรรมชาติ ความแห้งไล่ความชื้นในเนื้อพระออกไปทำให้พระแห้ง เกิดความมันใส ความมันใสนี้ดูด้วยตาจะอยู่ในระหว่างความมันวาวและความกะด้าง
ที่สุดนี้ขอให้ศึกษาได้โปรดพิจารณาด้วยดี ถ้าอ่านช้าๆ พินิจพิเคราะห์ตัวอักษรด้วยดี จะช่วยให้ท่านดูพระบูชาเป็น ป้องกันคนอื่นจะมาแหกตาได้ ที่กล่าวมานี้ก็ด้วยเจตนาบริสุทธิ์เจตนาดีแก่ทุกท่านที่เป็นนักนิยมพระ จะว่าเรื่องเชยสิ้นดีเอามะพร้าวมาขายสวนก็ยอม สะสมพระมานานมีความรู้ประสพการณ์ มาอย่างไรก็เอามาเล่าบอกกล่าวให้กันฟัง และโปรดอย่าได้ถือเอาความคิดเห็นนี้เป็นข้อยุติ ขอให้ถือว่าข้อเขียนนี้เป็นทัศนะของนักสะสมคนหนึ่งเท่านั้น ถ้าหากมีอะไรผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องขอได้โปรดอภัยด้วย ขอยุติเพียงเท่านี้ สวัสดี

เครดิต...คุณหนุ่ม มรดกไทย ติดต่อคุณหนุ่มได้ทีฺ่Bigboy@soonphra.com นะครับ **
และคุณ กบนอกกะลาเสริมว่า...
     ในกรณีของผู้สะสมที่พิจารณาเนื้อโลหะไม่คล่อง คือให้สังเกตุบริเวณไหล่ ของพระพุทธรูป ว่ามีการเชื่อมแขนพระกับองค์พระหรือไม่? สังเกตุด้วยการลูบดู ว่าสะดุดหรือไม่? มีการพรางตาด้วยวัสดุดำๆ บริเวณดังกล่าวหรือไม่? จากนั้น ให้ไล่ลงไปดูที่บริเวณใต้หลังพระหัตถ์ที่วางอยู่บนตัก พบรอยเชื่อมยึดติดระหว่าง มือกับตักหรือไม่? ถ้าหากพบรอยที่ว่าดังกล่าว ฟันธง .... เป็นพระย้อนยุค (อาจจะปลอม) ในยุคหลัง ร.๕ หรือเมื่อเร็วๆ นี้ นี่เอง เพราะว่าในสมัยโบราณ ไม่มีเครื่องเชื่อม ไม่มีลวดเชื่อม นั่นเอง อีกทั้งให้สังเกตุความตั้งใจในการสร้าง ถ้าเป็นพระยุคหลัง นิ้วมือของพระจะ ฝีมือหยาบมากๆ ไม่อ่อนช้อยเอาเสียเลย อีกอย่างนึง ดูรอยตะเข็บข้างพระก็ได้ ถ้าพบก็ให้ระวัง ปลอม 80 เปอร์เซนต์ หรืออาจจะเป็นพระที่ถอดพิมพ์มาก็ได้ พระพุทธรูป สมัยก่อนทำได้ไม่มากองค์นัก การเก็บรายละเอียดของงานจะดูดีมากๆ ด้วยความเลื่อมใสของช่าง ด้วยวิญญาณแห่งศรัทธา น้ำหนักของพระจะหนักเอาเรื่อง (หล่อหนา) เบ้าทุบ คือหุ้มขี้ผึ้งทั้งองค์ เป็นงานชิ้นเดียว ไม่แยกหล่อแขนต่างหาก แล้วนำมาเชื่อมต่อเหมือนในปัจจุบัน (สร้างได้เป็นจำนวนมาก เพื่อเงินตรา ไม่ใช่ศรัทธา) พระปลอมก็จะทำพระให้หนักด้วยการหล่อปูนซีเมนต์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ให้องค์พระหนักขึ้น ที่บริเวณใต้ฐานก็จะทำให้มองดูเหมือนว่า เนื้อพระจะหนา แต่ไม่ใช่ครับ เขาตลบขอบเข้าไปหลอกเอาไว้ สังเกตุดูให้ดีจะพบอาการนี้ครับ

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2552

14.พระรูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ พิมพ์ ”คอตึง”

พระรูปเหมือนปั๊ม พิมพ์คอตึง ของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ แม้ว่านักสะสมจะกำหนดค่าความนิยมเอาไว้เป็นรอง พิมพ์นิยม ก็ตามที แต่ก็ต้องยอมรับว่าพิมพ์คอตึงนี้ เล่นง่ายดูง่ายกว่าพิมพ์นิยมอยู่มากพอสมควร เพราะมีเพียง 1 เนื้อ 2 บล็อก เท่านั้นเองแถมยังมีประสบการณ์มากจริงๆ ถ้าจะคิดเสาะหามาไว้ติดตัวแล้วละก็ เลือก “พิมพ์คอตึง” แน่นอนกว่า นักเลงรุ่นพ่อว่าไว้อย่างนั้น
พระรูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อเดิม พิมพ์คอตึงนี้ สร้างก่อนพิมพ์นิยมครับ มีเฉพาะ เนื้อทองเหลือง แบ่งออกเป็น 2 บล็อกด้วยกัน จุดสังเกตความแตกต่างระหว่าง 2 บล็อก คือ
1.พิมพ์คอตึง ง.งู หางสั้น ตัว ง. งู ตรงคำว่า “หลวง” หางตัว ง. งู จะอยู่ในระดับแค่กึ่งกลางของตัว ว.แหวน นอกจากนี้กึ่งกลางตัว ว.แหวน จะมีขีดขวางวิ่งไปจรดตัว ล.ลิง
2.พิมพ์คอตึง ง.งู หางยาว บล็อกนี้หางตัว ง.งู จะยาวขึ้นไปเกือบอยู่ในแนวเดียวกับหัวของตัว ว.แหวน โดยที่ตัว ว. นั้นจะไม่มีขีดขวางเหมือนบล็อกแรก
ด้านหลังของหลวงพ่อเดิมพิมพ์นี้เหมือนกับ พิมพ์นิยมบล็อกแตก เลยมีนักสะสมหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่า พิมพ์คอตึง อาจสร้างภายหลัง พิมพ์นิยม ก็ได้แต่ตามประวัติการสร้างแล้วระบุไว้ว่า พิมพ์คอตึงสร้างก่อน
การเล่นหาสะสม “พระรูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อเดิมพิมพ์คอตึง “ มีหลักการพิจารณาในเบื้องต้นคล้ายกับพิมพ์นิยมดังนี้ครับ
1.เป็นพระรูปเหมือนปั๊มกระแทก ดังดั้นจึงมีความคมชัดมาก เส้นสายลายละเอียดดูชัดเจนไม่เบลอ
2.ผิวโลหะมีความเรียบ แน่น ตึง ไม่มีรูพรุนอากาศแบบพระหล่อ
3.ตัวอักษรที่เขียนว่า”หลวงพ่อเดิม” ตัวหนังสืออาจปั๊มไม่ติดหรือมีรอยบุบบู้บี้อันเกิดจากแรงกระแทก เนื่องจากตัวหนังสือเป็นส่วนที่นูนออกมาจึงเป็นจุดที่ได้รับแรงกระแทกมากเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่เป็นทุกองค์มีบางองค์ที่ปั๊มติดสวยๆ

จุดตำหนิในการดู หลวงพ่อเดิมพิมพ์คอตึง ง.งู หางสั้น

1.เม็ดนัยน์ตาติดชัดเจน ไม่ตื้นเบลอ ตาซ้ายอยู่ต่ำกว่าตาขวา
2.ริ้วจีวรที่พาดแขนซ้ายมีเส้นขนแมวอยู่ในร่องจีวร
3.หางตัว พ. มีขีดเฉียงขึ้น
4.หางตัว ง. งู สั้นแค่ครึ่งของตัว ว.แหวน และมีเส้นพาดขวางที่กลางตัว ว.แหวน
5.มีเส้นขีดขวางแนวนอนพาดผ่านผ้าสังฆาฎิไปหาริ้วจีวร
6.ใต้รักแร้ขวาของหลวงพ่อเดิม มีเส้นขีด 2 เส้นเชื่อมไปจรดจีวร

จุดตำหนิในการดู หลวงพ่อเดิมพิมพ์คอตึง ง. งู หางยาว

1.ภายในร่องโค้งผ้าสังฆาฏิมีขีดในแนวนอน
2.รอยพับที่ผ้าสังฆาฏิลึกและร่องใหญ่กว่าพิมพ์ ง. งู หางสั้น
3.หางตัว “ง” ยาวเสมอมุมหักของตัว “ว”
4.เส้นลำคอของหลวงพ่อเดิม เล็กและแคบกว่าพิมพ์ “ง” หางสั้น
ด้านหลังพระนั้นมีความชัดเจนมากโดยเฉพาะ”ริ้วจีวร”นั้น ที่ขาซ้าย-ขวาด้านหลังจะมีร่องรอยตกแต่งด้วยตะไบ มีร่องรอยการขูดเซาะคล้ายๆสามเหลี่ยม ตลอดจนมีรอยงัด ที่ข้อศอกเป็นร่องเช่นกันเพื่อตกแต่งรอยตะเข็บข้างในซอกข้อศอกออกไป

      ส่วนใต้ฐานนั้น โดยส่วนมากมักจะมี”รอยจาร”บางองค์จารยันต์พุทธซ้อน บางองค์จารยันต์ “นะซ่อนหัว” หรือบางองค์มีรอยจารทั้งสองแบบก็มี รอยจารจะเส้นเล็ก เรียว ไม่สดใหม่ ต้องส่องด้วยกล้องส่องพระจึงจะเห็น ถ้ามองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นเส้นใหญ่ๆ ให้พึงระวัง
พุทธคุณใน”พระรูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อเดิม พิมพ์คอตึง” มีประสบการณ์เด่นชัดมากในทาง”แคล้วคลาด คงกระพัน มหาอุด” ดังนั้นนักสะสมสายหลวงพ่อเดิมจะทราบดี หากให้เขาเลือกระหว่าง”พิมพ์นิยม”กับ”พิมพ์คอตึง”แล้วละก็ยังงัยก็เลือก”หลวงพ่อเดิมพิมพ์คอตึง”

วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

13.เหรียญหลวงปู่ทวดรุ่น ๒ ไข่ปลาใหญ่ บล็อก “พุทย้อย”

เหรียญหลวงปู่ทวด ไข่ปลาใหญ่ “บล็อกพุทย้อย” เป็นเหรียญที่มีความคล้ายคลึงกับเหรียญหลวงปู่ทวด บล็อกไม้มลาย แต่มีจุดแตกต่างที่ชัดเจนอยู่ที่คำว่า “ช้างให้” ไม่ได้เขียนด้วยสระไอไม้มลาย ส่วนด้านหลังเป็นคนละบล็อกกับเหรียญรุ่น ไม้มลาย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ที่ใต้ตัว พะ มีเส้นติ่งอยู่ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “พุทย้อย” เหรียญหลวงปู่ทวดบล็อกนี้ มีจำนวนค่อนข้างแพร่หลาย ปัจจุบันเหรียญสวยๆผิวรมดำเดิมๆ มีราคาสูงถึงหลักหมื่นกลาง ( กันยายน ๒๕๕๒ )
...จุดตำหนิเหรียญหลวงปู่ทวด รุ่น ๒ ไข่ปลาใหญ่ “พุทย้อย”...

ด้านหน้า
๑.มีเส้นบล็อกแตกอ่อนพลิ้ววิ่งจากขอบไปยังหูขวา
๒.ตรงอักขระขอมคำว่า “นะโมโพธิ” ตรงตัว “ธิ” มีเส้นแตกจากสระ อิ วิ่งออกไปในแนวขวาง
๓.ข้างแก้มซ้ายของหลวงปู่ทวดมีเส้นขนแมวอยู่หลายเส้น
๔.ตรงไหล่ซ้ายของหลวงปู่ทวดบริเวณผ้าสังฆาฎิ มีเส้นติ่งยื่นล้ำออกมา
๕.ช้างตัวที่อยู่ตรงขวามือของหลวงปู่ทวดมีเส้นแตกออกมาตรงกลางปากพอดีหนึ่งเส้น และตรงปลายงวงวิ่งไปชนแขนหลวงปู่อีกหนึ่งเส้น
๖.ตรงคำว่า “หลวงพ่อ” ที่ตัว ล.ลิง มีเส้นแตกวิ่งไปหาตัว ว.แหวน

ด้านหลัง
๑. รูหูเหรียญมีรอยเนื้อปลิ้นเป็นตาไก่อยู่ เกิดจากการปั๊มกระแทกอย่างแรงตอนปั๊มเหรียญ
๒. ตัวอักขระขอม ตัว “พุท” ที่อยู่ตรงด้านบนกึ่งกลางศรีษะอาจารย์ทิม มีเส้นติ่งย้อยลงข้างล่างเป็นที่มาของชื่อ “พุทย้อย”
๓. คำว่า “พระครูวิสัยโสภณ” สระ อู. เกยบนขอบเหรียญ ในเหรียญที่ติดชัดๆ จะมีเส้นแตกจาก ย.ยักษ์ วิ่งไปหาหัวของ สระ โอ.

ปล.หารูปไม่ได้ครับเลยถ่ายจากหนังสือแทนไม่ว่ากันนะครับ