วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552

10.พระเครื่อง เหรียญในหลวงทรงผนวช วัดบวรฯ พ.ศ. ๒๕๐๘

ตำหนิ เหรียญในหลวงทรงผนวช วัดบวรฯ พ.ศ. ๒๕๐๘

เหรียญที่ระลึกทรงผนวช สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุเสมอพระราชบิดาและการพระราชพิธีฉลองสมโภชเจดีย์ หล่อพระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ในงานพระราชพิธีเรียกว่า “จาตุรงคมงคล” ทั้งนี้เนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินบำเพ็ญพระราชกุศลถึง ๔ อย่างในคราวเดียวนั่นเอง

เหรียญในหลวงทรงผนวชนี้ เท่าที่วงการยอมรับนิยมเล่นหากันมี เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อทองแดงกะไหล่นาก และเนื้ออัลปาก้า (เนื้อช้อนส้อม) เพราะจำนวนที่สร้างอย่างมากมายจึงมีการแยกบล็อกออกมามากมายหลายประเภท แต่ที่นิยมมีเฉพาะเนื้อทองแดง เนื้ออัลปาก้า มีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ ด้านหน้าขอบเหรียญด้านในใต้หูเหรียญจะเว้าขึ้นเล็กน้อย ด้านหลังฐานเจดีย์จะเต็ม แต่หากเป็นเนื้อทองคำ หรือเนื้อเงินที่นิยม (ที่จริงก็นิยมทั้งสองเนื้อเพราะหายากทั้งคู่) ด้านหน้าจะไม่เว้าขึ้น มีเพียงแต่ฐานเจดีย์ด้านหลังเต็มเท่านั้น

เหรียญในหลวงทรงผนวช ปี ๒๕๐๘ นี้มีจุดสังเกตที่สำคัญ คือ เหรียญเนื้อทองแดง และเหรียญเนื้ออัลปาก้าเป็นเหรียญปั๊มตัดทีเดียว

เหรียญเนื้อทองคำ และเนื้อเงิน
เป็นเหรียญปั๊มข้างกระบอก
ตำหนิเหรียญในหลวงทรงผนวช ปี ๒๕๐๘ บล็อกนิยม
๑.ตัวหนังสือและพระพักตร์จะมีลักษณะคมชัดเพราะว่าผลิตโดยกองกษาปณ์
๒.หูเหรียญด้านหน้าจะมีลักษณะเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวซึ่งเป็นตำหนิพิมพ์ที่เกิดจากการปั๊มกระแทกอย่างแรงนั่นเอง
๓.ในบล็อกนิยมเนื้อทองแดงและเนื้ออัลปาก้าขอบเหรียญด้านหน้าใต้หูเหรียญจะเว้าขึ้นเล็กน้อย ในเหรียญที่ยังไม่สึกบนขอบเหรียญจะเห็นเป็นเส้นวงเดือนอยู่หลายเส้น (เส้นนี้ช่วยตัดสินความเก๊แท้ของเหรียญได้อย่างดีทีเดียว)
๔.ใต้หางตัว ช.ช้าง จะมีเม็ดไข่ปลาอยู่หนึ่งเม็ดคมๆ
๕.บนขอบเหรียญด้านหลังจะมีเส้นรัศมีวิ่งอยู่รอบๆขอบเหรียญ
๖.เจดีย์ด้านหลังต้องคมชัด ไม่เอียง
๗.ในพื้นที่ว่างหลังเจดีย์ จะมีเส้นขนแมว (เฉพาะบล็อกนิยม เนื้อทองแดงและอัลปาก้า)
๘.คำว่า “พระชน” หางตัว ช.ช้าง จะพาดบนฐานเจดีย์
๙.ในบล็อกนิยมฐานเจดีย์จะเต็มและตัว ส.เสือ ของคำว่า “เสมอ” จะพาดบนเส้นเจดีย์ชั้นล่างสุดเช่นกัน


Tags:พระ,พระเครื่อง,ชี้ตำหนิพระเครื่อง,จุดสังเกตพระเครื่อง,เหรียญพระพุทธ,เหรียญพระคณาจารย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น